กระดาน มุมความรู้พระสกุลลำพูน

มาตามรอยตำนาน "พระเปิม" จังหวัดลำพูน กันเถอะ เจอที่ไหน แยกกรุยังไง ประวัติ



มาตามรอยตำนาน
>>ประวัติการพบเจอพระเปิม จังหวัดลำพูน

พระเปิม เป็นพระยอดนิยม อีกหนึ่งพิมพ์ของจังหวัดลำพูน ลักษณะทั่วไปของพระเปิม จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าพระคง เป็นพระพุทธปฏิมาปางมารวิชัย สมาธิเพชร ห่มคลุม นุ่งประทับเหนืออาสนะ ฉากหลังเป็นผนังโพธิบัลลังก์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งพุทธลักษณะของพระเปิม มีเค้าทางกายวิภาคเป็นแบบของอินเดีย สกุลช่างคุปตะ

>>กรุที่พบเจอพระเปิม

พระเปิม พบเจอด้วยกันหลายกรุหลายวัดด้วยกันในจังหวัดลำพูน เท่าที่มีการจดบันทึกไว้มีกรุดังต่อไปนี้ กรุวัดดอนแก้ว หรือโรงเรียนเวียงยองในปัจจุบัน กรุวัดพระธาตุหริภุญไชย กรุวัดต้นแก้ว(อยู่ระหว่างวัดพระธาตุกับวัดดอนแก้ว) กรุวัดมหาวัน กรุวัดจามเทวี กรุวัดพระคง(พบเจอน้อย) กรุวัดประตูลี้(พบเจอน้อย) กรุพระเจ้าหัวหมด (อยู่ทางทิศเหนือของวัดพระคง) กรุครูขาว(อยู่หลังวัดพระคง) เนื่องจากพระเปิมถูกพบเจอจากหลากหลายกรุ แต่กรุที่พบเจอมากนั้นมีเพียงไม่กี่กรุ โดยกรุที่พบเจอมากที่สุดได้แก่ กรุวัดดอนแก้ว กรุวัดพระธาตุหริภุญไชย กรุวัดจามเทวี ส่วนกรุที่เหลือพบเจอเป็นส่วนน้อย จึงขอยกยอดไป จะขอกล่าวในตอนการพบเจอและการแยกกรุ



>>การพบเจอพระเปิมในแต่ละกรุ



>>พระเปิม กรุวัดดอนแก้ว //

วัดดอนแก้ว ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง ปัจจุบันได้กลายมาเป็นโรงเรียนเวียงยอง  การขุดหาพระเครื่องที่วัดดอนแก้วเริ่มปีไหน พ.ศ.ไหนมีไม่ผู้ใดได้บันทึกไว้ ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่ 2 บริเวณลานของโรงเรียน มีเจดีย์โบราณขนาดใหญ่หักโค่นพังทลายลงมาจนกลายเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีการขุดพระและได้พระมามากมาย พระครูญาณมงคล เจ้าคณะอำเภอ ท่านได้นำพระที่ขุดได้นี้(พระที่ชำรุด) ไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์ต้นก๊อ วัดต้นแก้ว สืบไป พระอีกส่วนหนึ่ง ได้นำไปบรรจุไว้ที่ปทุมวดีเจดีย์ ในวัดพระธาตุหริภุญไชย(ส่วนใหญ่จะเป็นพระเปิม)  และตามลานภายในวัดพระธาตุ และในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ได้มีผู้เข้าไปลักลอบขุดที่วัดดอนแก้วเป็นจำนวนาก แต่ว่าได้พระไปจำนวนขนาดไหนไม่มีผู้ได้บันทึกไว้ และหลังจากนั้นก็มีการขุดค้นเพื่อหาพระเปิมเรื่อยมาจนถึงยุคปัจจุบัน ก็ยังมีการพบเจอพระเปิมรอบๆ บริเวณวัดดอนแก้ว



>>กรุวัดพระธาตุหริภุญไชย //

ภายในวัดพระธาตุหริภุญไชยมีพระเจดีย์หนึ่ง ชื่อว่า “ปทุมวดีเจดีย์” มีรูปทรงสี่เหลี่ยม อยู่ทางทิศเหนือของวัด

การขุดพบพระเปิมที่ปทุมวดีเจดีย์ ครั้งที่ 1

ประมาณปี 2474 (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นระยะเวลา 8 ปี ) พระครูบาธรรมวิชัย ได้ทำพิธีเปิดกรุปทุมวดีเจดีย์ อย่างเป็นทางการ ซึ่งได้พระเปิมออกมาจำนวนมากมายหลายพันองค์ และทางวัดได้สาธุชนเช่าบูชา ซึ่งจะได้นำเงินไปบูรณะปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุ  

การขุดพบพระเปิมที่ปทุมวดีเจดีย์ ครั้งที่ 2

การขุดครั้งที่ 2 เกิดในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ราวปี 2484 โดยเจ้าจักรคำขจรศักดิ์ เจ้าหลวงของลำพูน ได้ขุดฐานของปทุมวดีเจดีย์เข้าไปและได้พระเปิมจากปทุมวดีออกมาจำนวนมากมายหลายพันองค์ ซึ่งเจ้าหลวงได้แจกจ่ายให้กับหน่วยทหารที่มาประจำการที่จังหวัดลำพูนทั่วทุกคน ที่เหลือได้นำไปฝังไว้ในกรุตามเดิม

การขุดพบพระเปิมที่ปทุมวดีเจดีย์ ครั้งที่ 3

เกิดขึ้นในปี 2496 ได้มีกลุ่มคนเข้าไปลักลอบขุดปทุมวดีเจดีย์ ส่วนจะได้พระออกไปเท่าไหร่นั้นไม่ได้มีการบันทึกไว้ เหลือแต่ร่องรอย ของการขุดไว้เท่านั้น  

เท่าที่มีประวัติและการบันทึกไว้ทำให้เราทราบว่าพระเปิม ที่พบเจอที่วัดพระธาตุหริภุญไชย ส่วนหนึ่งมาจากกรุดอนแก้ว เพราะเท่าที่มีบันทึกพระเปิมถูกพบเจอที่วัดพระธาตุ หลัก ๆ 2 ครั้ง ครั้งละหลายพันองค์ รวมทุกครั้งแล้วพระเปิมน่าจะมีมากถึงเกือบหมื่นองค์ เพราะเราไม่ทราบจำนวนที่ มีการนำมาจากวัดดอนแก้วว่ามีปริมาณมากขนาดไหน และในปทุมวดีเจดีย์ มีพระเปิมอยู่แล้วก่อนไหมไม่มีใครได้บันทึกไว้



>>พระเปิม วัดจามเทวี เจดีย์กู่กุฏิ

พบเจอในปี 2535 เนื่องจากในช่วงเวลานั้นได้มีการบูรณะเจดีย์กู่กุฏิ และได้พบเจอพระเปิม วางติดตามเจดีย์ พบเจอหลายร้อยองค์



////////การพบพระเปิมตามกรุต่าง ๆ



เท่าที่มีการบันทึกไว้และได้พูดคุยกับนักขุดพระยุคเก่า พระเปิม เจอทุกวัดในลำพูน ทั้งวัดประตูลี้ วัดพระคง วัดมหาวัน เพียงแต่ปริมาณไม่มาก พระเปิมที่พบเจอส่วนมาก จะมีลักษณะเหมือนพระเปิมกรุวัดดอนแก้ว เราจึงยกผลประโยชน์จุดนี้ให้กับทางกรุวัดดอนแก้วว่าเป็นพระเปิมกรุวัดดอนแก้ว นอกเสียจากว่าในบางองค์จะมีลักษณะคราบกรุที่ชัดเจนว่ามาจากกรุไหน

การแยกกรุพระเปิมเบื้องต้น



>>กรุวัดดอนแก้ว

พระเปิม ที่ถูกพบเจอวัดดอนแก้ว เนื่องจากเจดีย์ได้พังทลายลงมา ทำให้พระจมอยู่ในดินผ่านทั้งความร้อนความชื้น พระกรุนี้ส่วนมากจะปรากฏราดำ มีคราบกรุเยอะ เนื้อหาของพระเปิมกรุดอนแก้วส่วนมากที่พบเจอจะมีเนื้อที่ละเอียดเนียน บางองค์หยาบ(ส่วนน้อย)หลังอูมหนา บางองค์ก็บาง ไม่ถือเป็นข้อยุติในการพิจารณาแยกกรุ

>>กรุวัดพระธาตุ

เนื่องจากไม่มีข้อยุติ หรือการบันทึกไว้ ว่า ในเจดีย์ปทุมวดีมีพระเปิมอยู่ก่อนไหม และมีการนำพระเปิม มาบรรจุปีไหน เพียงแต่บอกว่าก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้มีการนำพระเปิมมาบรรจุไว้เท่านั้น แต่บันทึกที่เขียนไว้ว่าในปี 2474 ซึ่งก่อนสงครามโลกเกือบ 10 ปี มีการเปิดกรุอย่างเป็นทางการ ได้พระเปิมหลายพันองค์ และช่วงสงครามโลกเปิดกรุอีกรอบได้มาอีก หลายพันองค์ พระที่พบจากกรุนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยมีคราบกรุ เพราะว่าอยู่ในเจดีย์ หลังจะแบน เนื้อหาค่อนข้างหยาบว่าวัดดอนแก้ว และส่วนมากพระเปิมกรุนี้ จะมีสีแดง เป็นเสียส่วนมาก  ...มาถึงจุดนี้ ทำให้เราเริ่มมองเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูง ที่ พระเปิมจากวัดพระธาตุจะมีด้วยกันอยู่ 2 ส่วน คือพระเปิมที่เป็นของวัดพระธาตุเอง กับพระเปิมที่ถูกย้ายมาจากวัดดอนแก้ว ถ้าเราสรุปรวบยอดว่า พระเปิมที่พบเจอที่วัดพระธาตุทั้งหมดคือพระเปิมที่ถูกนำมาบรรจุจากวัดดอนแก้ว แล้วทำไมที่วัดดอนแก้วถึงไม่เคยขุดพบเจอ พระเปิม ที่มีลักษณะดังกล่าวที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดพระธาตุเลย เพราะถ้ามีเหมือนกันนั่นจะเป็นข้อยืนยันว่า จริงๆ แล้วพระเปิม กรุวัดพระธาตุไม่มีอยู่จริงเพราะทั้ง 2 วัด มีพระเหมือนกัน   แต่เนื่องจากวัดพระธาตุพบเจอพระเปิมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวออกไปทำให้เราได้ข้อคิดว่า จริงๆ แล้ว พระเปิมที่วัดพระธาตุ มีอยู่ก่อนแล้ว และบางส่วนก็ถูกนำมาจากวัดดอนแก้วน่าเอง(ส่วนที่มีเอกลักษณ์ของวัดดอนแก้ว) เมื่อเวลาผ่านมาเนิ่นนานพระเปิมที่ถูกพบเจอที่วัดพระธาตุซึ่งจริงๆ เป็นของวัดดอนแก้วก็จะถูกเรียกว่าพระเปิมกรุวัดดอนแก้วตามเดิมนั่นเอง คงเหลือไว้ซึ่งพระเปิม ที่มีเอกลักษณ์ของพระเปิมกรุวัดพระธาตุก็จะเรียกว่า พระเปิมกรุวัดพระธาตุต่อไป

>>พระเปิม วัดจามเทวี

เนื่องจากพระเปิม วัดจามที่พบเจอ เป็นการพบเจอโดยการที่พระเปิมติดอยู่ตามพระเจดีย์ ดังนั้นพระกรุนี้จึงไม่มีคราบกรุ และส่วนมาก เนื้อหาของพระเปิมกรุนี้ จะมีเนื้อหาที่หยาบที่สุดในกลุ่มของพระเปิม หลังแบนเรียบ  พระบาง ส่วนมากจะสวย พระสีทั่วไปโดยมากผิวพระจะพรุนเพราะตากแดดตากฝนมาอย่างยาวนานย่อมเป็นธรรมดาที่ผิวพระจะชำรุดไป  ยกเว้นสีเขียวเพราะมีเนื้อหาที่แกร่ง การสร้างพระเปิม วัดจาม คงสร้างกันคนละวาระกับพระเปิม กรุวัดดอนแก้ว แน่นอนเพราะทั้งเนื้อหาและเอกลักษณ์ของการสร้างต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ว่าใช้แม่พิมพ์ตัวเดียวกันแน่นอน เพราะจุดตำหนิต่าง ๆ เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยน

สุดท้าย ไม่ว่าพระเปิมจะมาจากกรุไหน ๆ ก็ล้วนมีพิมพ์ทรงที่เหมือนกัน ค่านิยมก็ขึ้นกับความสวย ในปัจจุบันไม่ได้แยกแยะว่าพระจะมาจากกรุไหนเพียงแค่สวยและสมบูรณ์ราคาเช่าหาก็แพงได้เช่นกัน

ขอขอบคุณที่อ่านมาจนจบผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความบทนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่รักและศรัทธาในพระสกุลลำพูน

ขอขอบคุณมากครับ BY :: วัฒน์ รัชดา 2-10-59

ข้อมูลอ้างอิง //

ปริอรรถาธิบาย ตรียัมปวาย 2502

ปฏิมากรรมไทย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

ตำนานพุทธเจดีย์ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ

ศิลปสมัยทวารวดี โดย มองซิเออร์ แปร์ ดูปองท์ 2496
โพสต์โดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:06:24



แผนที่รวมของการพบพระกรุหลัก ๆ ในจังหวัดลำพูน  
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:09:01

 วัดดอนแก้วในอดีต หรือ โรงเรียนเวียงยองที่พบเจอพระเปิมเป็นจำนวนมาก 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:10:04

  วัดดอนแก้วในอดีต หรือ โรงเรียนเวียงยองที่พบเจอพระเปิมเป็นจำนวนมาก 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:10:22

 เจดีย์ต้นก๊อ ในวัดต้นแก้ว ที่มีการนำพระเปิม (ที่ชำรุด) ที่นำมาจากวัดต้นแก้วมาบรรจุไว้ 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:11:51

ปทุมวดีเจดีย์ ที่ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุที่มีการขุดพบเจอพระเปิม หลายวาระ จำนวนมากมาย
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:13:32

 ภาพด้านหลังของพระเปิม กรุวัดดอนแก้ว 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:16:03

 ภาพด้านหลังของพระเปิม กรุวัดพระธาตุหริภุญไชย 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:16:30

 ภาพด้านหลังของพระเปิม กรุวัดจามเทวี 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:16:46

 ขอขอบคุณมากครับ BY :: วัฒน์ รัชดา 
ความคิดเห็นโดย : วัฒน์ รัชดา (1)  
2 ต.ค. 2559 15:17:17
กลับหน้าแรก   |  กลับหน้ารวมกระทู้